จิตวิทยาการเรียนการสอน
ความหมายของจิตวิทยา
จิตวิทยาเป็นศาสตร์เกี่ยวกับพฤติกรรมและประสบการณ์ของมนุษย์ โดยมีจุดหมายเพื่อค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์และวิธีที่เขาได้รับประสบการณ์ต่างๆ จากโลกรอบๆตัวเขา
ความหมายของจิตวิทยาในปัจจุบัน
ความหมายของจิตวิทยาในปัจจุบันหมายถึง วิทยาศาสตร์ (science) ที่ศึกษาเรื่องพฤติกรรม (behavior) และกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมอง (Mental Process)
จากความหมายของจิตวิทยาข้างต้น จะเห็นว่า จิตวิทยาเกี่ยวข้องกับคำ 3 คำ คือวิทยาศาสตร์ พฤติกรรมและกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมอง ซึ่งจะอธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
1.) จิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นศาสตร์นั้น หมายความว่า เป็นความรู้ทางจิตวิทยาที่เชื่อถือได้ เป็นความรู้ที่ได้จากสังเกตการวัด การทดลอง และการตรวจสอบอย่างรัดกุมมีระบบแบบแผนที่แน่นอนจนสามารถสรุปเป็นกฎเกณฑ์และทฤษฎีต่างๆ เพื่อนำไปใช้อธิบาย ทำนายและควบคุมปรากฏการณ์ต่างๆ ได้
2.)พฤติกรรม คือการกระทำและการตอบสนองของอินทรีย์ นักจิตวิทยามักจะศึกษาพฤติกรรมภายนอกเพราะเป็นพฤติกรรมที่สามารถสังเกตและวัดได้ พฤติกรรมภายนอกได้แก่ การกระทำต่างๆ ของมนุษย์ซึ่งสามารถสังเกตได้ด้วยตา เช่น การเดิน การพุด ฯลฯ หรืออาจจะใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น การใช้เครื่องวัด วัดอัตราการหายใจ คลื่นสมอง ความดันโลหิต และอื่นๆ
3.) กระบวนการที่เกิดขึ้นในสมอง เป็นพฤติกรรมภายในได้แก่ การกระทำที่ผู้อื่นไม่สามารถมองเห็นได้เช่น การรับรู้ ความคิด ความจำ ความรู้สึกและอารมณ์ การศึกษาพฤติกรรมภายในทำได้หลายวิธีเช่น การให้ผู้ที่เราต้องการจะศึกษารายงานตนเองหรือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ โดยการนำเครื่องมือต่างๆมาใช้เช่น เครื่องวัดความวิตกกังวล (EKG) เครื่องมือวัดคลื่นสมอง (EEG) และเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CAT หรือ Scan) เป็นต้น
ความเป็นมาของจิตวิทยา
คำว่า จิตวิทยาตรงกับภาษาอังกฤษว่า ไซโคโลยี (Psychology) มาจากศัพท์เดิมภาษากรีก2คำคือ ไซคี และ โลกอส (Psyche and Logos)
ไซคี แปลว่า จิตใจ( Mind )หรือวิญญาณ
โลกอสแปลว่าการศึกษา(Study)หรือแบบของการสอน(lineof teaching) ฉะนั้น เมื่อรวมเข้าด้วยกันจิตวิทยาจึงไซคี และโลกอส หมายถึง การศึกษาเรื่องของจิตหรือวิญญาณ
วิชาจิตวิทยาได้พัฒนามาเป็นศาสตร์ อย่างช้าๆเนื่องจากมีความขัดแย้งกับความเชื่อทางศาสนา โดยศาสนาเชื่อว่าเรื่องของจิตหรือวิญญาณเป็นสิ่งที่เป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้กฎหรือหลักเกณฑ์ใดๆ จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 19 มีนักจิตวิทยาชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อ เฮล์ม โฮลทซ์ (Helmholtz) เป็นผู้หนึ่งในกลุ่มบุคคลที่นำการทดลองมาใช้ในการศึกษาจิตวิทยา ต่อมาในปี ค.ศ.1879 มีนักจิตวิทยาชาวเยออรมันชื่อ วิลเฮล์ม วุ้นด์ (Wilhelm Wundt)เป็นคนแรกที่ใช้วิธีทางการวิทยาศาสตร์เข้ามาศึกษาทางการวิทยา
วิลเฮล์ม วุ้นด์ (Wilhelm Wundt) ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยาการทดลอง จากนั้นเป็นต้นมาจิตวิทยาได้รับการสนใจ ศึกษาค้นคว้าด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์จนถึงปัจจุบัน
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยาการเรียนการสอน
คำว่า การเรียนการสอน อาจจะเป็นเรื่องง่ายๆและตรงไปตรงมาเริ่มตั้งแต่ครูเตรียมการสอนเตรียมเนื้อหา และสอนให้ตรงตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ แต่ความเป็นจริงแล้ว การเรียนการสอนมิได้ง่ายอย่างที่คิด ดังที่ สุมน อมรวิวัฒน์ (2541:5) กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “ทำไมต้องปฏิรูปการเรียนรู้” ตอนหนึ่งว่า
....การสอนตามเนื้อหาหนังสือ และหลักสูตรซึ่งไม่มีหลักสูตรใดจะยืนยงคงกระพันไม่ล้าสมัย ไม่มีหนังสือเล่มใดจะครอบคลุมเรื่องที่ต้องเรียนให้หมด ไม่มีครูคนใดบอกเด็กได้ทุกเรื่อง ทุกเวลา ทุกคน ด้วยเหตุนี้ครูจึงอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ถ้าครูไม่ปรับปรุงคุณภาพของการสอน เด็กใน 10 ปีข้างหน้าจะมีคุณภาพเหมือนเราและล้าหลังยิ่งกว่าเรา...
จากข้อความข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า คุณภาพของเด็กในวันนี้คือคุณภาพของประชากรในวันข้างหน้า และคุณภาพการศึกษา คุณภาพประชากรอยูที่การสอนของครู วิชาจิตวิทยาการเรียนการสอนเป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการเรียนการสอน ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งด้านตัวนักเรียนและการสอนของครู จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยให้ครูเข้าใจบทบาทของตนเอง และเข้าใจธรรมชาติของนักเรียน เข้าใจกระบวนการเรียนการสอน และครูสามารถพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียน
ขอบข่ายของจิตวิทยาการเรียนการสอน
ได้มีผู้กล่าวถึงขอบข่ายของจิตวิทยาการเรียนการสอนไว้หลายท่าน เช่น
สุพล บุญทรง (2531:21)ได้กล่าวถึงจุดที่สำคัญของจิตวิทยาการเรียนการสอนในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวผู้เรียน แบ่งเป็น 2เรื่องใหญ่ คือ ตัวผู้เรียนและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง กับการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยที่ผู้สอนต้องรู้ว่าผู้เรียนมีพัฒนาการ และองค์ประกอบในการเรียนรู้อย่างไรโดยศึกษาจากจิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาการเรียนรู้ หรือจิตวิทยาการศึกษา
กุญชรี ค้าขาย (2536:101) ได้กล่าวถึงขอบข่ายของจิตวิทยาการเรียนการสอนว่า ประกอบด้วยความรู้ 4 ด้าน คือ
1.ความรู้เรื่องพัฒนาการของมนุษย์ 2.หลักการเรียนการสอน
3.ความแตกต่างระหว่างบุคคล
4.การนำหลักการและวิธีการเรียนรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาการเรียนการสอน
โกวิทย์ ประวาลพฤกษ์ และคณะ (2534:71-75) ได้กล่าวถึงลักษณะทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนว่ามาจาก 3 แหล่ง คือ
1.จิตวิทยาพัฒนาการเด็กซึ่งมุ่งศึกษาธรรมชาติของมนุษย์ในด้านต่างๆ
2.จิตวิทยาการเรียนรู้ ซึ่งเป็นเรื่องการรับรู้ ความจำ การเข้าใจสิ่งใหม่ๆ และการจัดโครงสร้างทางความรู้ความคิด
3.จิตวิทยาการเรียนการสอน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ครูและนักเรียนร่วมกัน
ดำเนินการเพื่อให้บรรลุผล